หน้าหลัก     ปัญหาสุขภาพ     สาระน่ารู้

โรคอ้วน (obesity)

       โรคอ้วน (obesity) คือโรคที่เกิดจากร่างกายได้รับพลังงานมากเกินกว่าพลังงานที่ใช้ไป ทำให้ร่างกายมีการสะสมปริมาณไขมันมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำเกิดโรคเรื้อรังและเสียชีวิต เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง ระบบทางเดินหายใจเช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ระบบทางเดินอาหาร เช่น นิ่วในถุงน้ำดี โรคกรดไหลย้อน ไขมันเกาะตับ ระบบต่อมไร้ท่อและนรีเวช เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ ระบบข้อและกล้ามเนื้อ เช่น ข้อเสื่อม เก๊าท์ เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง เช่น เต้านม มดลูก/ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่ หลอดอาหาร ตับอ่อน ไต ต่อมลูกหมาก สุขภาพจิต เช่น รู้สึกเสียความมั่นใจในการเข้าสังคม ภาวะซึมเศร้าจากการรายงานของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าโรคเกี่ยวกบหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยมากที่สุด นับเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก

โรคอ้วนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมีอยู่ 2 ชนิด

ชนิดที่ 1 โรคอ้วนทั้งตัว ชนิดนี้จะมีไขมันกระจายอยู่ทั้งร่างกายมากกว่าปกติ โดยมิได้จำกัดอยู่ที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะ

ชนิดที่ 2 โรคอ้วนลงพุง ชนิดนี้จะมีการสะสมของไขมันที่บริเวณช่องท้อง บรเวณช่องเอวมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นการสะสมของไขมันในอวัยวะภายในช่องท้อง เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับ ไต และอวัยวะอื่นๆ  ซึ่งอาจมีปริมาณไขมันใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องเพิ่มขึ้นด้วยจนทำให้เห็นหน้าท้องยื่นออกมาชัดเจน

การแบ่งระดับของโรคอ้วน

นิยมใช้ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) มาประเมินและแบ่งระดับโรคอ้วน โดย ดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก (กิโลกรัม)/ ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง

ซึ่งยิ่งอ้วนมากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆดังที่กล่าวมามากขึ้น นอกจากนี้ยังนิยมวัดไขมันในช่องท้องซึ่งแสดงถึงความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้และเส้นรอบเอว (waist circumference) ซึ่งมีค่าแตกต่างกันตามเชื้อชาติในการประเมินไขมันในช่องท้อง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วนหรือน้ำหนักเพิ่ม enlightened

1.กรรมพันธุ์

2.อายุที่เพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเผาผลาญที่ลดลง

3.การตั้งครรภ์

4.การเลิกบุหรี่

5.ยาที่ทำให้น้ำหนักขึ้น เช่น ยาจิตเวช ยากันชัก อินซูลิน สเตียรอยด์

6.โรคต่อมไร้ท่อ เช่น โรคถุงน้ำรังไข่ กลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing Syndrome) จากการใช้สเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ

7.การรับประทานอาหาร เช่น ทานจุบจิบ ทานอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง มีแป้ง น้ำตาลและไขมันสูง

8.การออกกำลังกายน้อย เช่น ไม่มีเวลาออกกำลังกาย พฤติกรรมทำงานใช้กำลังกายน้อย ขาดออกกำลังระดับหนักพอควรและมีข้อจำกัดด้านร่างกายในการออกกำลังกาย เช่น การบาดเจ็บ การอดนอน

ไขมันในเลือดสูง

        ไขมันในเลือดสูง คือ ภาวะที่ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ ซึ่งสูงกว่าระดับปกติที่ควรจะเป็น ปัจจัยกระตุ้นมาจากหลายๆอย่าง เช่น การรับประทานอาหาร, ความเครียด, กรรมพันธุ์, การสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์, โรคอ้วน ส่งผลให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อหลายๆโรค เช่น ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง, ให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่พบบ่อยคือ โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้หรือเป็นบุคคลทุพพลภาพ

ไขมันทรานส์ (Trans Fat)

        ไขมันทรานส์ (Trans Fat) เกิดจากการนำไขมันจากพืชหรือไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันพืช มาเติมไฮโดรเจนลงไปบางส่วน (Partially Hydrogenated Oil) เพื่อแปลงสภาพให้กลายเป็นของแข็งหรือกึ่งเหลว กลายเป็นไขมันอิ่มตัว อย่างเช่น เนยเทียม เนยขาว มาร์การีน ครีมเทียม สามารถเพิ่มระดับ LDL หรือไขมันที่ไม่ดีในร่างกายได้มากกว่าไขมันตัวอื่น นอกจากนี้ยังลดระดับ HDL หรือไขมันดีอีกด้วย จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้สูงขึ้น จึงควรเลี่ยงการบริโภคอาหารที่ประกอบด้วยไขมันชนิดนี้ พบในอาหารหลายประเภท เช่น

    ขนมอบเบเกอรี่ เช่น โดนัท ขนมเค้ก พาย คุกกี้ เวเฟอร์ บราวนี่ พิซซ่า ครัวซองต์ แซนวิช ขนมเปี๊ยะ โรตี ป๊อปคอร์นที่ใช้เนยเทียมคั่ว

    เครื่องดื่มสำเร็จรูปประเภทที่มีครีมเทียม วิปปิ้งครีม นมข้นหวาน นมข้นจืด ส่วนผสมเหล่านี้บางชนิดก็มีไขมันทรานส์

    อาหารทอดซ้ำ เช่น ปาท่องโก๋ กล้วยแขก ไก่ทอด หมูทอด  ปัจจุบันได้มีการรณรงค์เรื่องการลดบริโภคและการงดใช้ไขมันทรานส์ในการประกอบอาหาร โดยเราจะเห็นได้จากการเคลมและระบุในสินค้าอาหารต่างๆมากขึ้น

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้มีภาวะไขมันในเลือดสูงและโรคอ้วน

 ควรลดการบริโภคอาหารจำพวกขนมหวานทุกชนิด ผลไม้รสหวานจัดและผลไม้แปรรูป น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ของทอดต่างๆ แกงกะทิ อาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ เช่น เนย หรือมาการีน อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวหรือคอเลสเตอรอล ได้แก่ เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ สัตว์ที่มีกระดองแข็ง เช่น หอยนางรม ปู ปลาหมึก น้ำมันมะพร้าว กะทิ เป็นต้น

 ควรรับประทานผักให้มากในแต่ละมื้อ โดยเน้นผักใบเขียว อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ อาหารที่ทำจากพืช ถั่วต่าง ๆ และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น ปลาชนิดต่างๆ และเน้นการปรุงประกอบอาหารแบบต้ม อบ นึ่ง ตุ๋น ยำ แทนการใช้น้ำมัน หากจำเป็นต้องใช้น้ำมันควรลดปริมาณให้น้อยลงหรือเลี่ยงการใช้น้ำมันจากพืชเขตร้อน เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ซึ่งจะช่วยลดปริมาณไขมันอิ่มตัวในการบริโภคได้

 ควรงดและเลิกสูบบุหรี่

 ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 2-3 วัน ครั้งละมากกว่า 30 นาที

 งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

 หากิจกรรมคลายเครียดทำในยามว่าง

 ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก 6 เดือน - 1 ปี

   หากคุณเป็นโรคอ้วนและไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยตัวเอง หรือหากต้องการปรึกษาแพทย์ แพทย์อาจจะแนะนำปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำหนักโดยเฉพาะ แพทย์จะให้คำปรึกษาในเรื่องการลดน้ำหนัก สามารถปรึกษานักโภชนาการ หรือเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพทั่วไปได้เช่นกัน  การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายเป็นต้น

BACK