หน้าหลัก     ปัญหาสุขภาพ     สาระน่ารู้

เก๊าฑ์ (Gout)


โรคเก๊าท์ ความเจ็บปวดที่เลี่ยงได้ yes


     เก๊าท์ (Gout) ถือได้ว่าเป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเพศชาย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่ข้ออย่างฉับพลัน รวมถึงยังมีอาการข้อแข็ง และบวม ซึ่งมักจะเป็นที่นิ้วหัวแม่เท้า ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาการของโรคเก๊าท์ก็จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และอาจเป็นอันตรายต่อข้อต่อ เส้นเอ็นและเนื้อเยื่ออื่นๆได้


     โรคเก๊าท์ เกิดจากร่างกายมีกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ และมีการสะสมกรดยูริกเป็นระยะเวลาที่ยาวนานหลายปี จึงทำให้กรดยูริกตกตะกอน สะสมอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย ถ้าสะสมมากที่ข้อต่อ ก็จะเกิดอาการข้อต่ออักเสบและปวดแดงร้อนบริเวณข้อต่อ ถ้ากรดยูริกสะสมอยู่ตามผิวหนังมาก จะส่งผลให้เกิดปุ่มนูนขึ้นตามผิวหนัง ถ้ากรดยูริกสะสมที่ไตมาก ก็จะเกิดเป็นโรคนิ่วในไตและเกิดอาการไตเสื่อม เป็นต้น



กรดยูริก..คืออะไร ?


     กรดยูริก เป็นสารที่เกิดจากร่างกายของเราสามารถสร้างขึ้นได้เองถึง 80% ในร่างกาย ส่วนอีก 20% ที่เหลือ จะนำเข้ามาจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนเข้าไป โดยสารพิวรีนสามารถพบได้ในอาหารจำพวก สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ พืชผักบางชนิด และอาหารทะเลบางอย่าง



อาการของโรคเก๊าท์ enlightened


     โรคเก๊าท์ในระยะเริ่มแรก คือ มีอาการปวดแดงอย่างเฉียบพลัน โดยในช่วงวันแรกจะเป็นช่วงที่ปวดมากที่สุด และไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า จุดที่จะแสดงอาการก่อนส่วนอื่นๆของร่างกาย ได้แก่ นิ้วโป้งเท้า ข้อเท้า และข้อเข่า หลังจากเวลาผ่านไปในวันที่สองอาการปวดก็จะเบาบางลงและหายปวดใน 5 - 7 วันหลังเกิดอาการ โดยสถิติแล้วพบว่า เพศชายมีโอกาสเป็นโรคเก๊าท์มากกว่าเพศหญิง
     
     อาการที่เด่นชัดของโรคเก๊าท์ คือ โพดากร้า (podagral) ซึ่งจะมีอาการอักเสบของข้อที่นิ้วหัวแม่เท้า ผู้ป่วยจะรู้สึกปวด รวมถึงสังเกตได้ว่าข้อเท้ามีอาการบวมแดงและร้อน อาการปวดมักจะเริ่มต้นในช่วงกลางคืน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดอาจเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง



ปัจจัยที่กระตุ้นให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงจนตกตะกอนเป็นผลึก ได้แก่


การรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลฟรุกโตส


 อาการเจ็บป่วยที่มีผลต่อการสร้างเซลล์เพิ่มขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) โรคสะเก็ดเงิน


 อาการเจ็บป่วยที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างกรดยูริกขึ้นมามากกว่าปกติ ขณะเดียวกันก็ลดความสามารถในการกำจัดกรดยูริกออกจากร่างกาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไต


 การใช้ยาบางชนิด ที่ส่งผลให้ไตขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะได้น้อยลง


     ถ้าหากในร่างกายมีกรดยูริกมากเกินไป ตามปกติแล้วร่างกายของคนเราจะขับกรดยูริกที่เกินความจำเป็นออกไปได้ทางปัสสาวะ แต่ในร่างกายของบางคนไม่สามารถขับกรดยูริกออกไปได้หมด จึงเกิดกรดยูริกสะสมในร่างกาย โดยเฉพาะในบริเวณของกระดูก ผนังหลอดเลือด และไตที่เป็นตัวฟอกเลือดและขับกรดยูริกไปทางปัสสวะ ดังนั้น การขับกรดยูริกออกไปไม่หมดจนตกตะกอนมากๆ จึงกลายเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคเก๊าท์



การป้องกันและดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคเก๊าท์ enlightened


     การป้องกันโรคเก๊าท์ที่สามารถทำได้ คือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคด้วยการไม่รับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่วนการดูแลตัวเองของผู้ป่วย ได้แก่


พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางตามนัดทุกครั้ง และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด


 หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เนื้อสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ อาหารทะเลบางชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเน้นรับประทานโปรตีนจากผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรศึกษาอย่างละเอียดว่าอาหารชนิดใดควรหรือไม่ควรรับประทาน หลีกเลี่ยงฟรุกโตสซึ่งพบมากในน้ำอัดลม


 ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน และไม่ควรลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว เพราะอาจเป็นการเพิ่มระดับของกรดยูริกได้


 ดื่มน้ำให้มากเพื่อขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ


 หากมีอาการปวดเฉียบพลันให้พักการใช้ข้อที่อับเสบ แล้วใช้วิธีประคบเย็นช่วยบรรเทาอาการ



การรักษาระยะยาวเพื่อป้องกันการอักเสบซ้ำ
         
   

   1. การป้องกันการเกิดข้ออักเสบซ้ำ ภายหลังจากข้ออักเสบหายแล้วถ้าผู้ป่วยมีข้ออักเสบเป็นซ้ำ อีกหลายครั้งใน 1 ปีจะแนะนำให้ทานยาโคลชิซินป้องกันโดยให้ขนาด 0.6-1.2 มิลลิกรัม / วัน จนกว่าตรวจไม่พบตุ่มโทฟัส ระดับกรดยูริกในเลือดลงต่ำกว่า 4-5 มิลลิกรัม / เดซิลิตร และไม่มีข้ออักเสบเลยอย่างน้อย 3-6 เดือน
   
   2. การรักษาภาวะกรดยูริกในเลือดสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อไปละลายกรดยูริกหรือผลึกยูเรตที่อยู่ในข้อ, รอบๆข้อ, ตามตุ่มโทฟัส หรือตามเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ที่ไต โดยใช้ยาลดกรดยูริกในเลือดซึ่งขณะนี้มี 2 กลุ่มใหญ่ได้แก่ยาเพิ่มการขับกรดยูริกทางไต และยาลดการสร้างกรดยูริก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาใช้ยาชนิดใดนั้นขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลาหลายปี มีการตรวจเลือดเช็คระดับกรดยูริกในเลือดเป็นระยะ โดยเป้าหมายจะต้องให้ระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่า 5.0-6.0 มิลลิกรัม / เดซิลิตร
 
   3. คำแนะนำอื่นๆ โรคเก๊าท์มักสัมพันธ์กับการมีโรคร่วมอื่น ได้แก่ ภาวะไขมันสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอ้วน ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องรับการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคร่วมด้วยเสมอ ต้องลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักตัว ดื่มน้ำพอสมควร งดการดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับอาหารนั้นผู้ป่วยโรคเก๊าท์ไม่จำป็นต้องจำกัดอาหารประเภทสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ หรือยอดผัก เพราะอาหารประเภทดังกล่าวมีผลทำให้เกิดข้ออักเสบได้น้อย ยกเว้นต้องจำกัดอาหารเพื่อควบคุมความดันโลหิต หรือไขมันเป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรจะต้องได้รับการประเมินการทำงานของไตและนิ่วของทางเดินปัสสาวะเสมอ


 

เอกสารอ้างอิง


• Rakel, David. Integrative Medicine E-Book. Elsevier Health Sciences. Kindle Edition.
• HD สุขภาพเริ่มต้นที่นี่. โรคเกาท์เกิดได้อย่างไร อาหารอะไรที่ควรงด. available online : https://www.honestdocs.co/gout-cause-and-prevention
• Bumrungrad International Hospital. โรคเก๊าท์ (Gout). available online : https://www.bumrungrad.com/th/conditions/gout
• อ.นพ.สมบูรณ์ อินทลาภาพร. เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยลัยมหิดล. โรคเก๊าท์ (Gout). available online : https://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_8_006.html

BACK