หน้าหลัก     ปัญหาสุขภาพ     สาระน่ารู้

ไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)


ไขมันในเลือดสูง เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด 


     ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือดของคนไทย เราจึงไม่ควรละเลยที่จะดูแลสุขภาพหัวใจของเราเองให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ก็เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่ง เกิดจากอาหารที่เรารับประทานและจากการสร้างขึ้นเองในร่างกาย อาหารที่มีไตรกลีเซอไรด์ ได้แก่ น้ำมันจากสัตว์ชนิดต่างๆ ผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์สูงมากๆ จะทำให้ตับอ่อนอักเสบและมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้มาก


ภาวะไขมันในเลือดสูง

โดยปกติร่างกายคนเราจะมีไขมันอยู่ 2 ชนิด คือ


1. คอเลสเตอรอล (Cholesterol)

     คอเลสเตอรอล อาจมีระดับสูงขึ้นจากอาหารที่รับประทาน เช่น อาหารหวาน มัน เค็ม เนื้อสัตว์ติดมัน และอาหารทะเล โดยเฉพาะไขมันทรานส์ พบได้ในขนมอบ ขนมกรุบกรอบ และครีมเทียม ในผู้ป่วยบางรายอามีระดับคลอเลสเตอรอลสูงจากกรรมพันธุ์ คอเลสเตอรอล แบ่งเป็น


 ชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL) หรือไขมันชนิดที่ไม่ดี เป็นชนิดอันตราย เพราะเป็นคอเลสเตอรอลที่ไปสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบและแข็ง เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และหลอดเลือดสมองตีบ


 ชนิดความหนาแน่นสูง (HDL) หรือไขมันชนิดที่ดี ทำหน้าที่ขจัดไขมันอันตรายไปจากกระแสเลือด ต่อต้านการสะสมผิดที่ของไขมันและคลอเลสเตอรอล ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ HDL ยิ่งสูงยิ่งดีต่อร่างกาย


2. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)


     ไตรกลีเซอไรด์ อาจมีระดับสูงขึ้นจากโรคบางอย่าง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน การดื่มสุรา และยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมน สเตียรอยด์ เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงจากกรรมพันธุ์เช่นกัน


     เมื่อใดที่ร่างกายมีไขมันมากเกินไป ไขมันจะไปเกาะตามผนังด้านในของหลอดเลือด ถ้าไขมันสูงมากจะมีผลทำให้หลอดเลือดตีบ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก โดยเฉพาะบริเวณขา ทำให้เดินแล้วปวดน่อง และอาจส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ เกิดโรคหัวใจขาดเลือด หรืออาจทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เกิดเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต โดยเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่ ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ อัมพฤกษ์อัมพาต มากขึ้น


ค่าระดับไขมันในเลือดประเภทต่างๆที่ปลอดภัย enlightened


 โคเลสเตอรอลรวม น้อยกว่า 200 มก./ดล.


 แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล (LDL) น้อยกว่า 130 มก./ดล.


 เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล (HDL) มากกว่า 40 มก./ดล.


 ไตรกลีเซอไรด์ น้อยกว่า 130 มก./ดล.


สาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูง


 ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ทำให้ร่างกายเผาผลาญทำลายไขมันลดลง


 การใช้ยาบางชนิด หรือโรคบางอย่าง เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ทำงานได้น้อย โรคไต เป็นต้น


 การรับประทานอาหารที่ผิดหลักโภชนาการ


      การรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก เช่น กะทิ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันมาก อาหารทอดที่อมน้ำมัน


      รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบที่มีน้ำตาลมาก


      รับประทานอาหารเกินความจำเป็นของร่างกายใน 1 วัน


 การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในปริมาณมากและเป็นประจำ


ไตรกลีเซอไรด์สูง ควรทำอย่างไร ?


     ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงผิดปกติ เกิดจากการกินอาหารไม่ถูกสัดส่วน ได้รับพลังงานหรือแคลอรีมากเกินไป กินอาหารที่มีไขมันหรือขนมหวานในปริมาณมาก ทำให้ร่างกายสร้างไตรกลีเซอไรด์แล้วขับเข้าสู่กระแสเลือดมากเกินไป การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะไปกระตุ้นตับให้ผลิตไตรกลีเซอไรด์มากขึ้นเช่นกัน


 งดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต คือแป้ง และ น้ำตาล เพราะว่าถ้าร่างกายใช้งานไม่หมด ร่างกายก็จะคาร์โบไฮเดรตเปลี่ยนไปเป็นไตรกลีเซอไรด์ได้


 ออกกำลังกาย ทำให้เราแข็งแรงและจัดการกับพลังงานที่เหลือใช้ได้ดี ทำให้ไม่มีเหลือพอที่จะนำไปสร้างไตรกลีเซอไรด์ได้


 งดการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะรบกวนการทำงานของตับ โดยตับต้องมาทำหน้าที่กำจัดของเสียจากแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ทำให้ตับทำหน้าที่ที่เหลือคือกำจัดไขมันส่วนเกินออกไปได้ไม่เต็มที่ สุดท้ายไขมันส่วนที่เหลือก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็นไตรกลีเซอไรด์นั่นเอง


 รับประทานไขมัน โอเมก้า-3 (Omega-3) ที่ประกอบด้วย EPA และ DHA ในรูปของปลาที่มีไขมันสูง, น้ำมันปลาชนิดแคปซูล และอาหารหรือเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยโอเมก้า-3 และ 9


คอเลสเตอรอลสูง ควรทำอย่างไร ?


 เลี่ยงอาหารที่ผ่านการอบหรือทอด ที่มักจะมีไขมันชนิดทรานส์ (Trans’ fat) เป็นส่วนประกอบ เพราะไขมันชนิดนี้จะทำให้โคเลสเตอรอลตัวร้าย (LDL) สูงขึ้นและคอเลสเตอรอลตัวดี (HDL) ลดลง


 เลี่ยงไขมันอิ่มตัวที่มักพบในเนื้อสัตว์ เพราะจะเพิ่มคอเลสเตอรอลตัวร้าย


 ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน หรืออย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาทีเป็นอย่างน้อย เพื่อหัวใจแข็งแรง ควบคุมน้ำหนักตัว และระดับคอเลสเตอรอลตัวร้าย (LDL) ในเลือดได้ดี


 รับประทานอาหารเสริม ที่มีส่วนผสมของ แพลนท์สเตอรอล ซึ่งเป็นสารธรรมขาติที่เป็นส่วนประกอบของพืช พบมากในถั่วเมล็ดแห้ง, เมล็ดธัญพืช และน้ำมันที่ได้จากพืช มีคุณสมบัติยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่กระแสเลือด

BACK